เด็กและวัยรุ่นหลังภัยพิบัติ
นายแพทย์ประเสริฐ
ผลิตผลการพิมพ์
หลังภัยพิบัติหรือเหตุการณ์รุนแรงใดๆ
ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ
เช่น แผ่นดินไหว
คลื่นยักษ์
น้ำท่วม พายุ
หรืออุบัติภัย
เช่น ไฟไหม้
รถชน
เครื่องบินตก
เรือล่ม
โรงงานระเบิด
แก๊สระเบิด
หรือภัยสงคราม
รวมทั้งภยันตรายรุนแรงเฉพาะตัว
เช่น
ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน
ถูกจับเป็นตัวประกัน
เหยื่อที่รอดชีวิตจำนวนหนึ่งอาจจะป่วยด้วยโรค
Post-Traumatic
Stress Disorder เขียนย่อว่า
PTSD
อาการที่พบบ่อยที่สุดคือเฉยเมย แยกตัว
ไม่สนใจที่จะสมาคมกับญาติหรือเพื่อนๆที่คุ้นเคย
ไม่สนุกกับกิจกรรมที่เคยชอบ ขี้หงุดหงิด
นอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อย
และบางรายมี
flashback คือเห็นภาพหรือได้ยินเสียงเหตุร้ายนั้นซ้ำๆ หลายคนจะรู้สึกผิดที่ตนเองรอดชีวิต ดังที่เรียกว่า
survival guilt
PTSDสามารถเกิดขึ้นกับคนทุกกลุ่มอายุ อย่างไรก็ตามพบว่าเด็กและวัยรุ่นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่าเพื่อน ความรุนแรงที่กระทำต่อเด็กนั้นเปรียบได้เหมือนการกรีดมีดลงบนเนื้อตัวของเด็กทำให้เกิดบาดแผลและแผลเป็น แผลเป็นนี้จะรบกวนพัฒนาการบุคลิกภาพในระดับต่างๆนับจากนั้น
หากใช้พัฒนาการทางบุคลิกภาพของ
Erik Erikson เป็นหลัก
อีริคสันเปรียบ
พัฒนาการบุคลิกภาพของมนุษย์เหมือนขั้นบันไดซึ่งจะมีทั้งหมด
8
ขั้นตั้งแต่แรกเกิดจนตาย
เด็กและวัยรุ่นซึ่งยาวเพียง
18 ปีจะเป็นบันได
5 ขั้นแรก อายุขัยที่เหลือเป็นบันได
3 ขั้นหลัง
แผลเป็นที่เกิดขึ้นจากการกระทำรุนแรงต่อเด็กจะรบกวนการก้าวเดินขึ้นบันไดทั้ง
5
ขั้นนั้น อาจจะขึ้นไปช้ากว่าปกติ อ้อยอิ่งอยู่กับที่
ถดถอยกลับลงมา
หรือติดขัดที่บันไดขั้นใดขั้นหนึ่งไม่ยอมไปไหนอีกเลย
ในกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งคลื่นยักษ์สึนามิในครั้งนี้
มิเพียงเด็กๆจะประสบเหตุการณ์รุนแรง
แต่เด็กจำนวนมากสูญเสียคุณพ่อหรือคุณแม่
บางคนเห็นคุณพ่อคุณแม่หายไปกับตา
เด็กจำนวนมากกำพร้าทั้งคุณพ่อคุณแม่อย่างเฉียบพลัน
บันไดพัฒนาการจึงมิได้เพียงมีแผลสดในวันนี้และจะเกิดแผลเป็นในวันข้างหน้า
แต่ยังขาดผู้ชี้นำและเทียนส่องทางแห่งชีวิตไปอีกด้วย
อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติ
มีรายงานบอกว่าร้อยละ
27-100
ของเด็กที่พบภยันตรายรุนแรงจะป่วยด้วยโรค
PTSD ในภายหลัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นความรุนแรงที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
เช่น
ถูกจับเป็นตัวประกัน ถูกข่มขืน
หรือเหตุการณ์มือปืนกราดยิงผู้คนในโรงเรียนจะก่อผลเสียหายร้ายแรงกว่าเหตุร้ายตามธรรมชาติ
นอกเหนือจากโรค
PTSD แล้ว
เด็กๆยังสามารถเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตอื่นๆ
ที่พบบ่อย คือ โรคสมาธิสั้น(Attention
Deficit Hyperactive Disorder) โรคอารมณ์เศร้า(Major
Depression) และบุคลิกภาพผิดปกติชนิดบอร์เดอร์ไลน์(Borderline
Personality Disorder) เหตุทำร้ายร่างกายหรือละเมิดทางเพศต่อเด็กซ้ำๆจะทำให้เกิดบุคลิกภาพผิดปกติชนิดบอร์เดอร์ไลน์ได้มากกว่าเพื่อน
สำหรับกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ก่อนที่เด็กจะปรากฏอาการของโรค
PTSD หรือโรคทางจิตเวชอื่นๆเต็มรูปแบบ เด็กๆก็ต้องผ่านช่วงเวลายากลำบากช่วงหนึ่งซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่สังคมควรตระหนักแล้วรีบเข้าไปช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
เป็นระบบ ทั่วถึง
และทันท่วงที เพื่อที่จะป้องกันหรือลดความเสียหายระยะยาวที่จะติดตามมา
โดยมีข้อควรสนใจแยกตามกลุ่มอายุดังนี้
1-กลุ่มอายุต่ำกว่า
5 ปี ขอให้รู้ว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือความกลัวว่าคุณพ่อคุณแม่จะหายไป หากเด็กสูญเสียคนใดคนหนึ่งไปแล้วความกลัวว่าอีกคนหนึ่งจะหายไปด้วยก็จะรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ
หลังเหตุร้ายและหลังจากผ่านระยะช็อคหรือเฉยเมยไปแล้ว เด็กอาจจะมีพฤติกรรมถดถอย
โดยขอให้แม่อยู่ใกล้ตลอดเวลา ร้องไห้ งอแง
ไม่ยอมให้คุณแม่คลาดสายตา กลับไปดูดนิ้วหรือติดขวดนม
ติดตุ๊กตา ติดผ้าห่มอีกครั้งหนึ่ง ที่ไม่เคยปัสสาวะรดที่นอนก็อาจจะปัสสาวะรดที่นอน ที่ไม่เคยกลัวความมืดก็จะกลัว ที่เคยนอนปิดไฟได้กลับจะขอให้เปิดไฟไว้ตลอดคืน ที่เคยไปโรงเรียนหรือเนอร์สเซอรี่โดยง่ายก็อาจจะไม่ยอมไปโรงเรียนหรือเนอร์สเซอรี่อีก
อย่าลืมว่าเด็กเล็กยังมิได้เข้าใจกระบวนการและความหมายของความตายเหมือนผู้ใหญ่
กล่าวคือความตายเป็นกระบวนการที่มีสาเหตุ เป็นที่สิ้นสุดและไม่ย้อนกลับ ดังนั้นเป็นไปได้ว่าความคับข้องใจของพวกเขามิใช่เพียงรอคอยคุณพ่อหรือคุณแม่ที่สูญหายกลับมาหา
แต่ความคับข้องใจของพวกเขายังกินความถึงความไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรคุณพ่อคุณแม่ที่รักเขาอย่างยิ่งจึงทิ้งเขาไป
ไหนเคยว่ารักเขามากที่สุดและสัญญาว่าจะดูแลเขาเล่นกับเขาตลอดกาล ยามราตรีสวัสดิ์ก็ยังเคยพูด
Goodnight See
You Tomorrow อยู่ทุกค่ำคืน
แล้วเพราะอะไรจึงใจร้ายหายตัวไป
สำหรับเด็กเล็กซึ่งการใช้ภาษายังมีจำกัด
สิ่งที่ทำได้คือส่งเสริมให้เล่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเล่นที่เป็น
free form คือไม่มีรูปแบบและเป็นอิสระ เช่น เล่นระบายสีมากขึ้น เล่นดินเล่นทรายมากขึ้น เล่นดินน้ำมันมากขึ้น ให้ฉีกกระดาษและเล่นแป้งเปียกมากขึ้น กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยได้มาก
เพราะสามารถระบายความคับข้องใจให้แก่พวกเขาได้เป็นอย่างดี
หากเป็นไปได้เด็กๆเหล่านี้ทุกคนควรได้พบกับนักจิตวิทยาโดยไม่มีเงื่อนไข
นักจิตวิทยาจะได้ช่วยแก้ไขความเสียหายและช่วยญาติๆวางแผนการแก้ไขและป้องกันความเสียหายระยะยาวอย่างถูกวิธีและเป็นระบบ
2-กลุ่มอายุ
6-10 ปี ขอให้รู้ว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือความรู้สึกผิด
เด็กจะเฉยเมย แยกตัว
ไม่สนใจการเรียน ไม่ยอมไปโรงเรียน
บังคับให้เรียนก็จะพบว่าเขาทำไม่ได้ ไม่ใช่เพราะขี้เกียจแต่เป็นเพราะสมาธิลดลง หากเข้าไปเซ้าซี้ก็จะหงุดหงิด
ฉุนเฉียว
ระเบิดอารมณ์ มีปัญหาการนอน
ฝันร้าย
หวาดกลัว ที่ไม่เคยปัสสาวะรดที่นอนก็จะปัสสาวะรดที่นอน
ที่เคยปัสสาวะรดที่นอนแล้วหายแล้วก็จะกลับมาปัสสาวะรดที่นอนอีก
หลายคนปรากฏอาการทางร่างกาย
เช่น ปวดท้อง
หรือท้องเดินอยู่เรื่อยๆ พาไปตรวจที่โรงพยาบาลก็ไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน
เด็กจะมีอาการทั้งถดถอยทั้งรู้สึกผิด
การไม่ยอมไปโรงเรียนเป็นอาการที่ถดถอยอย่างมากในเด็กวัยนี้ เพราะแสดงถึงความไม่มั่นใจว่าตนเองจะไม่พลัดพรากจากคุณพ่อคุณแม่อีก ทำนองว่าหากไปโรงเรียนแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้พบกันอีก
เป็นการถดถอยไปไกลถึงอายุประมาณก่อน
3 ขวบที่ซึ่ง คุณพ่อคุณแม่
ยังเป็นอะไรที่แม้จะชัดเจนแต่ก็ไม่มั่นคง
ส่วนความรู้สึกผิดนั้นแสดงออกด้วยอาการทางร่างกายเป็นสำคัญ
ทำนองว่าอาการปวดท้องหรืออาการต่างๆนานานั้นเป็นการลงโทษตนเองวิธีหนึ่ง
สำหรับเด็กโตซึ่งพอรู้ภาษาแล้ว ผู้ใหญ่ควรอธิบายเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้เขาฟังอย่างชัดเจนและกระชับหนึ่งครั้ง
หลังจากนั้นเรื่องที่ควรทำคือปกป้องพวกเขาจากข่าวสารที่ก่อความสะเทือนใจเพิ่มเติม สอนเขาอย่างตรงไปตรงมาว่าในช่วงเวลาเช่นนี้เขาไม่ควรนำตัวเองเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ที่ก่อความสะเทือนใจโดยไม่จำเป็น
และเขามีสิทธิที่จะร้องไห้หรือโศกเศร้าเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ มิใช่ความผิดปกติหรือความผิดแต่อย่างใดที่เขาจะรู้สึก
ไม่ดี
กับเรื่องที่เกิดขึ้น
สิ่งที่ผู้ใหญ่บางท่านมักจะทำทั้งๆที่ไม่ควรทำคือผลักดันเด็กให้เข้มแข็งอย่างรวดเร็ว อาจจะโดยการผลักดันให้เห็นภาพข่าวหรือปล่อยให้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุนานเกินความจำเป็น สอนให้เข้มแข็งและไม่ให้ระบายออกโดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่โตแล้ว
ควรจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก ผู้ใหญ่ควรสละเวลามาอยู่ใกล้ชิด
อยู่เป็นเพื่อน
และกอดบ่อยครั้งขึ้น ทั้งหมดนี้เพื่อหยุดกระบวนการถดถอยทางจิตให้นิ่งอยู่กับที่ไม่ถดถอยมากไปกว่านั้นอีก
ซึ่งหากทำได้เด็กจะสามารถพัฒนาตนเองไปข้างหน้าอีกครั้งหนึ่งด้วยตนเองในภายหลัง
3-กลุ่มวัยรุ่น
12-17 ปี
ขอให้รู้ว่าเรื่องสำคัญที่สุดคือความรู้สึกว่าตนเองไร้หนทางควบคุมเรื่องราวต่างๆนานา
วัยรุ่นจะปรากฏอาการต่างๆนานาเต็มรูปแบบทั้งสามกลุ่มอาการดังที่เกิดกับผู้ใหญ่
นั่นคือ 1.avoidance คือแยกตัว
เฉยเมย 2.hyperarousal คือผวาง่าย
หงุดหงิดง่าย 3.intrusion คือฝันร้าย
มีประสบการณ์
flashback
อาการแยกตัวอาจจะเป็นมากถึงกับไม่ยอมไปโรงเรียน อาการหงุดหงิดง่ายอาจจะรุนแรงถึงการแสดงออกที่ไม่เหมาะสม
เช่น
ควบคุมตนเองไม่ได้และทำลายขาวของ
อาการฝันร้ายอาจจะรุนแรงถึงขั้นสับสนในเวลากลางคืนเป็นบางขณะ
ประเด็นปัญหาของวัยรุ่นคือความรู้สึกว่าอะไรต่อมิอะไรอยู่เหนือการควบคุมของเขา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำได้คือช่วยให้เขารู้สึกว่าตนเองสามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ตามสมควร อาจจะด้วยการเปิดโอกาสให้เขาเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆนานาภายในบ้าน เช่น หากจะไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ก็ให้เขาเป็นผู้เลือกและตัดสินใจ ให้เขาเป็นผู้เลือกและตัดสินใจว่าเย็นนี้จะไปกินข้าวที่ร้านไหนกันดี หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยเช่นวันนี้จะใส่เสื้อสีอะไรดี
เป็นต้น
วัยรุ่นบางคนจะบำบัดตนเองหรือกลบเกลื่อนความหวาดกลัวเหล่านี้ด้วยการหันเข้าหาบุหรี่ เหล้า และยาเสพติดในที่สุด การสูบบุหรี่
กินเหล้า ใช้ยาเสพติดเป็นหนทางหนึ่งที่พวกเขาคิดว่าตนเองสามารถควบคุมตนเองได้อีกครั้งหนึ่ง
จะเห็นได้ว่าเด็กแต่ละวัยคิดไม่เหมือนกันต่อเหตุการณ์เดียวกัน
อาการที่เกิดขึ้น
แม้จะเหมือนกันแต่ก็ด้วยวิธีคิดที่ต่างกัน เช่น
พฤติกรรมไม่ยอมไปโรงเรียน
สำหรับเด็กเล็กไม่ยอมไปโรงเรียนเพราะกลัวว่าคุณพ่อคุณแม่จะหายไป
สำหรับเด็กโตไม่ยอมไปโรงเรียนเพราะขาดสมาธิ
มีความรู้สึกผิด และอาจจะ
มีอาการปวดหัวปวดท้องต่างๆนานาทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน
สำหรับวัยรุ่นไม่อยากไปโรงเรียนเพราะไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรหรือควบคุมอะไร
ได้บ้าง
ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเป็น
PTSD ในตอนหลัง จากรายงานพบว่าเด็กที่เคยเผชิญ
ภยันตรายมาก่อนเมื่อครั้งเป็นเด็กเล็กรวมทั้งกลุ่มที่เคยถูกละเมิด(abuse)จะปรากฏอาการPTSDได้ง่ายกว่าคนอื่น การเลี้ยงดู ความสัมพันธ์ในครอบครัวทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ร้าย
ความรวดเร็วของความช่วยเหลือทั้งเรื่องปัจจัยสี่และการดูแลด้านจิตสังคม ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความเจ็บป่วยที่จะมีตามมาในภายหลัง
หากผู้ปกครองพบบุตรหลานของท่านเริ่มมีอาการเล็กน้อยๆดังที่เล่ามา ต่อไปนี้คือคำแนะนำกว้างๆ
10 ข้อที่ทุกคนควรทำได้
1-เปิดโอกาสให้บุตรหลานของท่านได้พูดถึงเหตุร้ายนั้นเมื่อเขาพร้อม ไม่ต้องบังคับให้พูด แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาอยากพูดอยากเล่าก็ไม่ควรห้าม
2-ให้ความมั่นใจแก่บุตรหลานของท่านว่าที่เขารู้สึกและคิดอะไรซ้ำๆนั้นมิใช่
บ้า หรือ เพี้ยน หรือ สติแตก แต่ที่แท้แล้วเป็นความรู้สึกที่จะเกิดกับเหยื่อจำนวนมากของเหตุการณ์รุนแรงนั้น
3-ส่งเสริมให้บุตรหลานของท่านใช้ชีวิตและร่วมกิจกรรมตามปกติโดยเร็วที่สุด
ไปเรียนหนังสือ
ไปเรียนพิเศษ
ไปเล่นดนตรี
หรือกีฬาที่เคยทำตามปกติ
4-เปิดโอกาสให้บุตรหลานของท่านได้ทำอะไรต่อมิอะไรเล็กๆน้อยๆในบ้าน ได้เป็นผู้ตัดสินใจในกิจกรรมบางอย่างของครอบครัว
เช่น
เย็นนี้จะออกไปกินข้าวที่ร้านไหนดี ทั้งนี้เพื่อให้เขาเกิดความรู้สึกเล็กๆน้อยๆว่าเขายังสามารถควบคุมและบงการชีวิตได้ตามปกติ มิได้เสียการควบคุมไปอย่างสิ้นเชิงดังที่เกิดขึ้นในวันที่เกิดเหตุร้าย
5-บอกบุตรหลานของท่านอย่างตรงไปตรงมาว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมิใช่ความผิดของเธอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคลื่น หรือความตายของคนใกล้ชิด
เปิดโอกาสให้เขาได้ระบายความรู้สึกผิดที่ตนเองเป็นผู้รอดชีวิต
แต่ไม่ปล่อยให้เขาตำหนิตนเองซ้ำไปซ้ำมานานจนเกินไป
6-ติดต่อบุคคลที่ใกล้ชิดบุตรหลานของท่านให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อจะได้รับทราบและแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เช่น
ครู
โค้ช
รุ่นพี่
7-ไม่ตำหนิหรือห้ามปรามพฤติกรรมถดถอยบางอย่าง เช่น
เดิมไม่เคยปัสสาวะรดที่นอนก็ปัสสาวะรดที่นอน เดิมแยกห้องนอนไปแล้วตอนนี้ขอกลับมานอนกับพ่อแม่อีก
หากเป็นวัยรุ่น
เช่น
เปิดไฟนอนทั้งคืน
เปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ทั้งคืน
หรือเอาตุ๊กตาขนสัตว์มานอนกอด อย่างไรก็ตามก็ให้รับทราบว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นคำเตือนว่าท่านต้องสละเวลาดูแลเอาใจใส่บุตรหลานให้มากขึ้น
8-ดูแลสุขภาพตนเองด้วย ถ้าผู้ใหญ่มั่นคงเด็กจะมั่นคง
ถ้าผู้ใหญ่ไม่มั่นคง
เด็กๆจะไม่มั่นคงด้วย เพราะฉะนั้นเสาหลักจึงต้องแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
การออกกำลังกายทุกวันจะช่วยได้มากที่สุด
9-ถ้าท่านรับมือพฤติกรรมของบุตรหลานท่านไม่ได้ ควรส่งเสริมให้บุตรหลานของท่านไปเข้ากลุ่มพูดคุยหรือกลุ่มบำบัดของเหยื่อที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้าย หรือไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา
10-ถ้าท่านรับทราบว่าบุตรหลานของท่านมีความคิดจะทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทำอะไรแต่ควรพาไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อให้การช่วยเหลือที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้า
หลังภัยพิบัติธรรมชาติ
โรงเรียนจะปิดหลายวัน
แม้ว่าคุณครูโดยเฉพาะคุณครูที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่อาจจะมีสภาพจิตที่ไม่สมบูรณ์นักเพราะประสบภัยพิบัติเช่นกัน แต่ก็ขอให้ระลึกเสมอว่าทันทีที่โรงเรียนเปิดจะมีเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งต้องการความมั่นคงของคุณครูช่วยเหลือพวกเขา
เพราะฉะนั้นช่วงเวลาที่โรงเรียนปิดจึงเป็นเวลาที่คุณครูควรเตรียมตนเองให้พร้อม
วิธีที่ดีที่สุดคือการกินอาหารที่มีประโยชน์
งดของมึนเมา นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ออกกำลังกายทุกวันอย่างสม่ำเสมอ
และสำรวจจิตใจของตนเองเป็นระยะๆ
หากคิดว่าตนเองไม่พร้อมจะรับมือวันเปิดเทอมก็อาจจะต้องพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป
ต่อไปนี้คือคำแนะนำ
5
ประการสำหรับคุณครูที่จะใช้ดูแลเด็กๆในโรงเรียนหลังเกิดภัยพิบัติ
1-ไม่มีความจำเป็นต้องรีบสอนตามตารางอย่างเคร่งครัดในทันที
ผ่อนหนักผ่อนเบาตามสภาพจิตของนักเรียน ในทางตรงข้ามกับชั่วโมงสอนตามปกติ
คุณครูควรเพิ่มชั่วโมงเล่นกีฬาหรือชั่วโมงศิลปะให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยฟื้นฟูสภาพจิตเด็กๆได้โดยตรงแล้ว คุณครูจะได้ใช้โอกาสนี้ในการสังเกตนักเรียนเป็นรายบุคคล
และให้ความสนใจต่อนักเรียนที่มีพฤติกรรมเฉยเมยและแยกตัวเป็นกรณีพิเศษ
2-จัดชั่วโมงพูดคุยกันเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายที่ผ่านพ้นไป
ให้นักเรียนแต่ละคนได้พูดถึงประสบการณ์ของตนเอง
ไม่ต้องวิตกกังวลล่วงหน้าถึงอารมณ์ของนักเรียนแต่ละคน เพราะโดยธรรมชาติแล้วกระบวนการกลุ่มของนักเรียนสามารถดูแลสมาชิกแต่ละคนได้
3-ไม่บังคับให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งเข้ากลุ่มหรือบังคับให้นักเรียนคนใดคนหนึ่งต้องพูดเสมอไป
ให้เป็นความสมัครใจของแต่ละคน
โดยคุณครูสามารถส่งเสริมและให้กำลังใจนักเรียนที่ต้องการพูด
4-ถ้าเป็นไปได้
ควรเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรืออาสาสมัครในหน้าที่ต่างๆมาเล่าประสบการณ์และให้ความรู้แก่นักเรียน
ช่วยให้นักเรียนรับทราบความเป็นไปของสถานการณ์ในภาพรวม
เพื่อให้พวกเขาเข้าใจเรื่องราวทั้งหมดถูกต้องตามที่เป็นจริง อย่าลืมว่าข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้นจึงจะช่วยให้ผู้ประสบเหตุร้ายสามารถปรับตัวได้ถูกทาง
5-ควรจัดกลุ่มสำหรับพ่อแม่และผู้ปกครองของนักเรียนด้วย
เพื่อให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองของนักเรียนแต่ละคนได้รับทราบความเป็นไปของนักเรียนทั้งห้อง
เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
เด็กและวัยรุ่นเป็นกลุ่มอายุที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงอย่าง
แน่นอนเพราะพัฒนาการบุคลิกภาพของเขายังไม่เรียบร้อย การปล่อยปละละเลยไม่ทำอะไรเลยทำให้พลาดโอกาสที่จะป้องกันปัญหาระยะยาวในภายภาคหน้า
การช่วยเหลือที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพควรมาจากบุคลากรที่ได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะ เช่น
จิตแพทย์
หรือ
นักจิตวิทยา
อย่างไรก็ตามหากบุคลากรที่ได้รับการฝึกมีจำกัด
ให้พิจารณาทุนทางสังคมที่มี
อยู่ในท้องถิ่นด้วย ได้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคง รักเด็ก สามารถเป็นผู้นำกลุ่มเด็กๆ และสามารถสร้างกิจกรรมพิเศษเพื่อดึงดูดให้เด็กๆได้มารวมตัวกัน พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ และช่วยเหลือกันทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์