การตรวจเช็ครถยนต์หลังสถานการณ์น้ำท่วม
ผู้เขียน ธเนศร์
เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
หนังสือ กลับให้ได้
ไปให้ถึง หน้า 238-243
สำนักพิมพ์ บริษัทพิฆเณศ พริ้นท์ติ้ง เซ็นเตอร์ จำกัด พิมพ์ครั้งที่
8 เมษายน 2543
ตอนนี้เราไปดูกันบ้างว่า ถ้ารถจมน้ำเข้าให้ ไม่ว่าจะจำใจ จงใจ ไม่ตั้งใจนั้น
เราควรจะทำอย่างไร
อันที่จริงแล้วผมไม่อยากจะเอามาบอกนักนัก
ด้วยว่าไม่อยากให้ใครเที่ยวได้เอารถยนต์ไปหล่นตูมตามลงในน้ำลึก และไม่ได้อยากเห็นใครมีปัญหาเมื่อรถจอดอยู่กับที่แล้วน้ำไม่รักดีบ่าเข้าไปท่วมรถ
แต่อ่านข่าวที่เดี๋ยวนี้ชัก ไม่ค่อยอยากอ่านเท่าไร ด้วยว่ามีแต่เรื่องน่ากลุ้มใจไปหมดไม่ว่าบ้านเราหรือบ้านเมือง
ก็ยังได้พบข่าวน้ำท่วมประปราย เลยจับเอาอาการแก้ไขหลังน้ำท่วมรถขึ้นมาเล่าสู่กันฟังเสียตรงนี้ล่ะครับ
- แรกทีเดียว อย่าพยายามรีบร้อนติดเครื่องยนต์รถที่เพิ่งเอาขึ้นจากน้ำหรือน้ำลดลงไปจากการท่วมมิดเครื่องยนต์เป็นอันขาด
เพราะน้ำที่อัดอยู่ในเครื่องยนต์อาจจะทำให้ก้านสูบกับก้านกระทุ้งวาล์วในกรณีที่เป็นรถโบราณเช่นโฟล์กสวาเกน
เต่าทองนั้น คดงอได้เลยทีเดียว
- อย่าพ่วงไฟเพื่อติดเครื่องยนต์รถที่ใหม่กว่ารุ่นปี
ค.ศ. 1989 หรือ พ.ศ. 2532 ขึ้นมา
ด้วยว่านั้นจะเปิดโอกาสให้แอลเทอร์เนอเตอร์ซึ่งมักจะเรียกกันง่าย ๆ ว่า
ไดชาร์จ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นานาประดามีในรถไหม้เสียหายได้
- ก่อนที่จะเปลี่ยนแบตเตอรี่ใหม่
หรือเอาแบตเตอรี่ไปอัดไฟให้เต็มอีกทีแล้วเอามาใช้ หรือพูดให้ชัดก็ได้ว่า ต่อขั้วแบตเตอรี่เข้ากับรถอีกครั้งหลังจากพ้นน้ำแล้วนี่
ปลดฟิวส์ของระบบถุงลมนิรภัยเพื่อไม่ให้ทำงานขึ้นมาได้ในระยะแรกนี้ก่อน ด้วยว่าถ้าวงจรไฟฟ้าในระบบถุงลมนิรภัยเกิดลงดินหรือชอร์ตกันได้แล้วล่ะก็
ถุงลมระเบิดตูมแบบว่าทำงานให้ใช้ได้ขึ้นมาเฉย ๆ เสียของไปเปล่าๆ
หลายหมื่นทีเดียวนะครับ
- ปกติเมื่อรู้ว่ารถจะจมน้ำ
เราก็ควรถอดสายไฟยกแบตเตอรี่ขึ้นที่สูงบนบ้านบนเรือนก่อน
ถ้าทำไม่ทันแบตเตอรี่จมน้ำอยู่ก็จะหมดไฟไปก่อนที่จะเข้าทำให้เกิดกระแสลัดวงจรที่เสียหายเพราะน้ำได้
แต่เมื่อน้ำแห้งแล้ววงจรอาจจะลงดินอยู่ มีกระแสเข้าไปเมื่อไรลัดวงจรเมื่อนั้น
จึงควรรีบถอดสายแบตเตอรี่ออกทันทีที่รถพ้นน้ำ ถ้าไม่ได้เอาแบตเตอรี่ออกไปเสียก่อน
โดยเฉพาะรถที่ตกน้ำลงไปโดยไม่ได้ตั้งใจนั่น
- ทีนี้ เมื่อปล่อยให้วงจรอุปกรณ์หลายอย่างแห้งแล้ว
ก็ปลดฟิวส์ของวงจรที่มั่นใจได้ออกเสียก่อน เช่นวงจรถุงลมนิรภัยเป็นต้น
- ตรวจรถยนต์ที่เพิ่งพ้นน้ำของคุณให้ถี่ถ้วน
ถ้าพบน้ำในที่เขี่ยบุหรี่ ก็เชื่อเอาไว้ก่อนว่า น้ำคงเข้าไปถึงระบบไฟฟ้าบนหน้าปัด
เช่น มาตรมัดต่าง ๆ และสวิตช์ได้ และโดยที่วงจรเหล่านี้มักจะทำเป็นแผงจึงสามารถทำความสะอาดและแห้งเอามาใช้ได้ใหม่อีก
แต่ตามที่ปรากฏกันมาก็คือคุณมักจะพบปัญหาของวงจรในการใช้งานต่อไปภายหน้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จมน้ำหรือเปียกน้ำนี้
อายุการใช้งานหลังจากนั้นจะค่อนไปทางข้างสั้น
- อย่าไปหวังอะไรให้มากนักเลยครับ
นอกเสียจากจะเปลี่ยนกันใหม่หมด แพงอีกใช่ไหมล่ะ
- เกียร์อัตโนมัติกับทอร์กคอนเวิร์ตเตอร์
ต้องได้รับการล้างเอาน้ำมันและน้ำออกให้หมด เช่นเดียวกับเฟืองท้าย หรือส่วนมากในตอนนี้จะไปอยู่ข้างหน้าแล้ว
กับพวกทรานสเฟอร์ของระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ด้วยว่าทั้งสองอย่างนี้มีรูระบายอากาศน้ำจึงเข้าไปทางนั้นได้
ก็ต้องทำอย่างเดียวกับเกียร์อัตโนมัติ
- เพลาขับที่ยางหุ้มเพลาขาด น้ำจะเข้าไปนำเอาจารบีออกไป
ต้องอัดจารบีใหม่และเปลี่ยนยางหุ้มเพลาด้วย
- อีกอย่างหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้
เมื่อตรวจเกี่ยวกับระบบส่งกำลังนี่คือ ลูกปืนล้อทั้งหน้าและหลังที่มีอยู่ในรถทั่วไป
ต้องนำออกมาล้างอัดจารบีใหม่ ใส่กลับคืนที่ด้วยการปรับใหม่ให้แน่นตามลำดับไม่แน่นเกินไปจนล้อหมุนฝืด
- ล้างและเปลี่ยนน้ำระบายความร้อน เอาโคลนเลนที่ติดอยู่ตามรังผึ้งหม้อน้ำออกให้หมด
ใส่น้ำยาลดความร้อน หล่อลื่น และรักษาโลหะลงผสมในน้ำระบายความร้อนใหม่อีกครั้งให้ได้ตามลำดับที่กำหนด
- การกำหนดอัตราส่วนผสมน้ำยากับน้ำในระบบระบายความร้อนนี้ที่กระป๋องหรือขวดน้ำยาจะมีบอกชัดเจน
ถ้าเป็นฟอร์ดก็จะมีป้ายบอกไว้ที่ระบบหรือหม้อน้ำสำรอง โดยให้ใช้น้ำยาของฟอร์ด 50 % กับน้ำสะอาด 50 % เป็นต้น
- การใช้น้ำยาสีเขียว
ราคาประหยัด ใส่เพียงกระป๋องเดียวหกเจ็ดสิบบาทนั่น ช่วยอะไรทางด้านการลดความร้อนและการสึกกร่อนของอะลูมิเนียมผสมในเครื่องยนต์ไม่ได้หรอกครับ
เรื่องแบบนี้ไม่ควรประหยัดเพราะจะเป็นการเสียน้อยเสียยากเสียมากเสียง่าย เมื่อถึงเวลาต้องซ่อมเครื่องยนต์ด้วยค่าใช้จ่ายหลาย
ๆ หมื่นบาท
- อย่างน้อยก็ต้องล้างทำความสะอาดภายนอกของระบบห้ามล้อเปลี่ยนน้ำมันเบรก และหากแช่น้ำอยู่นานก็อาจจะต้องถึงขนาดซ่อมใหญ่เบรกทั้งระบบกันเลยก็ว่าได้
ตรงนี้ไม่ต้องถึงรถจมน้ำทั้งคันหรอกครับ แค่แช่อยู่ทั้งวันลึกท่วมล้อเท่านั้นก็ได้เรื่องแล้ว
- รถกระบะหนึ่งตันที่ชอบลุยน้ำลึก
เพราะเห็นว่าเครื่องยนต์ดีเซล ไม่มีระบบไฟฟ้าจุดระเบิด ไม่ต้องกลัวน้ำเข้าระบบไฟฟ้าแล้วเครื่องดับนั้น
ถ้าน้ำเข้าเครื่องก็เสร็จเหมือนกัน หนักกว่ารถเบนซินด้วยซ้ำไป และเมื่อลุยน้ำลึกมากบ่อยเข้า
น้ำก็เข้าไปในระบบห้ามล้อจนเกิดสนิม และน้ำมันเบรกเน่าเสียไปจนห้ามล้อไม่อยู่ได้นะครับ
อย่าทำเป็นล่นไป อันตรายไม่ได้น้อยกว่าเขาอื่นหรอก ถึงจะขับพ้นตรงที่น้ำท่วมได้ด้วยความเร็วจนน้ำกระจายเป็นปีกไปสาดรถอื่นเขาได้สนุกดีนั่นน่ะ
เผลอ ๆ เป็นไข้สารตะกั่วเอาแถวนั้นเลยก็ยังเคยมี
- ของที่จมน้ำแล้วอาจจะต้องถึงกับเปลี่ยนเลยทีเดียวก็คือสตาร์ตเตอร์ เพราะน้ำเข้าไปนี่ฝรั่งบอกว่าซ่อมยากเสียเวลา
แต่บ้านเราคงเอาไปให้ช่างไฟฟ้าตามร้านทั่วไปล้างทำความสะอาด ตรวจเช็คและปรับสภาพใช้ใหม่ได้
ไม่ต้องกับถึงกับต้องเปลี่ยนใหม่ แต่ต้องเอาออกมาทำแน่นอนถ้าจมน้ำครับ
- มาถึงตรงนี้
ที่หนักอีกอย่างคงจะเป็นพวกมอเตอร์ไฟฟ้าของกระจกไฟฟ้า ที่นั่งปรับไฟฟ้า
และเสาอากาศไฟฟ้า ตรงนี้อาจถึงกับต้องเปลี่ยนเพราะซ่อมยากไปก็ได้ครับ
หลายสตางค์อยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าเที่ยวได้ขับรถลงไปแช่น้ำเล่น ไม่สนุกเลยเมื่อขึ้นมาได้
- หมดพวกราคาแพงและเป็นปัญหาได้มาก
ก็ถึงส่วนที่มีปัญหาได้ในระดับรองลงมา จะเปลี่ยนหรือซ่อมก็ต้องตรวจสภาพกันดูทุกส่วน
อย่าวางใจละเว้นละเป็นดี
- เริ่มที่แผ่นคลัตช์
จานคลัตช์ ลูกปืนคลัตช์ บางทีพอน้ำแห้งอาจจะทำท่าว่าใช้งานได้เหมือนเดิม
ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เท่าไรนัก ใช้ไปไม่เท่าไรมักจะมีเสียง และเริ่มแสดงอาการของปัญหาเกียร์เข้ายากขึ้นมาให้พบได้เสมอ
- แร็กพวงมาลัย โดยเฉพาะพวกของพาวเวอร์ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่ต้องตรวจเช็ค
แม้จะเป็นความเป็นไปได้ที่จะเสียหายเป็นรองของที่บอกมาแล้วในตอนต้น ก็มีโอกาสเสียหายได้
รวมทั้งโช้กอัพตัวยาวตัวสั้นที่ใช้มานานก่อนหน้ารถจมน้ำ ซีลกันน้ำหลวมแล้ว น้ำเข้าได้นะครับ
ควรเปลี่ยนถ้าพบความผิดปกติหรือไม่น่าไว้วางใจ
- รีเลย์ เซ็นเซอร์ต่าง
ๆ สวิตช์ไฟ และกล่องฟิวส์ก็ต้องได้รับการตรวจเช็คให้แน่ใจว่าไม่มีอะไรเสียหาย
ยังทำงานได้ดี โดยเฉพาะกล่องฟิวส์ต้องลงดินได้ดีเช่นเดิมถ้าเกิดมีการจมน้ำอยู่ระยะหนึ่ง
เอาแค่วันเดียวหรือหลายชั่วโมงก็ไม่ดีแล้วนะครับ
- จานจ่ายนี่ก็ตัวดี
ถ้าเป็นแบบใช้ทองขาวยังไม่เท่าไร แต่เบรกทรานซิสเตอร์ขึ้นมานี่ บางทีถึงต้องเปลี่ยนกันเลยทีเดียว
เพราะต่อไปมักทำให้เครื่องยนต์สั่นโดยไม่ทันนึกว่ามาจากตัวนี้ได้
- แผงวงจรที่ผมว่าไว้ตอนแรกนั้น
พอจะล้างได้ด้วยน้ำซึ่งทำการ DEIONIZED จากนั้นก็เอาไปอบที่ความร้อน 120 องศาฟาเรนไฮต์สัก
30 นาที แล้วพ่นด้วยสเปรย์แล็กเกอร์เคลียร์ก่อนจะนำมาใช้ใหม่ ซึ่งก็ยังไม่แน่นักว่าจะทนทานต่อไปได้สักเพียงไร
โชคดีก็รอดตัว
- คลัตช์ของแอร์คอมเพรสเซอร์ควรได้รับการตรวจเช็คว่าใช้การได้หรือไม่
- ดวงไฟฟ้าหน้ารถก็อย่ามองข้าม
น้ำอาจจะเข้าไปค้างอยู่ เอาออกเสียให้หมดก่อนที่จานจ่ายจะกลับบ้านเก่าเพราะน้ำทำเหตุ
ผมได้ข้อมูลนี้มาจากการตอบปัญหาเพื่อช่วยเหลือกันเองของช่างเทคนิคทั่วโลก อันเป็นสมาชิก IATN หรือ Internation Automotive TechnicianNetwork ซึ่งผมก็เป็นสมาชิกหนึ่งในสามของคนไทยขณะนี้ (สิงหาคม 2540) อยู่ด้วย
ขอยกเครดิตในเรื่องนี้ให้กับคุณ Brent
Black ผู้ก่อตั้ง Network และคุณ Rob Cagen ผู้รวบรวมคำตอบที่ตัวท่านเองถามไป
แล้วได้รับการตอบมาจากช่างเทคนิคทั่วโลกของ Net Work จนปรับสภาพรถจมน้ำได้เรียบร้อย
แล้วนำมาแจ้งให้สมาชิกทุกท่านกว่าเจ็ดพันคนรอบโลกทราบทาง e-mail น่ะครับ ผมเอามารวบรวมไว้ให้ เผื่อคุณไปป่าแล้วน้ำมาอย่างแรง หนีไม่พ้นท่วงที จะได้มีโอกาสแก้ไขได้ภายหลัง
ที่มา http://www.nakhongarage.com และ http://v2.one2car.com/Car2Care