ที่มาของมูลนิธิ "สุขภาพภาคใต้"
ตั้งแต่ปี 2549 ที่ศ.นพ. ธาดา ยิบอินซอย เป็นประธานคณะที่ปรึกษาคณะที่ 2 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ. มงคล ณ สงขลา) จนถึงช่วงท้ายของชีวิตสมาชิกของวงเล็กคณะ 2 อ. ธาดา จากหลายองค์กรด้านสุขภาพมาพบกันทุกเดือนในวันอาทิตย์ที่ห้องทำงานของอ. ธาดาโดยมีบทบาทหลักเป็น "brain & body" ของระบบสุขภาพในพื้นที่โดยใช้งานวิชาการและการบริหารจัดการในการวางทิศทางและประสานแนวทางการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ ทั้งระดับนโยบายในส่วนกลาง นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพในจังหวัดชายแดนใต้ เช่น ความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ (VIS) การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ การป้องกันควบคุมโรค การบริหารจัดการระบบวัคซีน ระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ งานนิติเวชศาสตร์ การผลิตและพัฒนากำลังคนในวิชาชีพต่างๆ เช่น พยาบาล ทันตาภิบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา การแพทย์ที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิม รวมถึง การจัดการสุขภาพระหว่างพิธีฮัจญ์ ศาสนสถาน อาหารฮาลาล เป็นต้น หลังอ.ธาดาจากไป การสืบสานงานต่างๆ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญของ “วงเล็กคณะ 2 อ. ธาดา” สมาชิกและกัลยาณมิตรจึงได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิสุขภาพภาคใต้ขึ้น โดยใช้เงินกองมรดกของ อ.ธาดาเป็นเงินทุนเริ่มแรกในการจัดตั้ง
วิสัยทัศน์
เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการของบริบทพื้นที่
พันธกิจ
แก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพที่เชื่อมโยงนโยบายและการปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการของบริบทพื้นที่ โดยใช้ความรู้สหวิทยาการและเครือข่ายความร่วมมือหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อน
ยุทธศาสตร์
1. การพัฒนาที่ใช้ความรู้เป็นฐาน
2. การสร้าง จัดการ และใช้ความรู้สหวิทยาการ
3. การเชื่อมโยงนโยบาย วิชาการ และการปฏิบัติ
4. การหนุนเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
5. การขับเคลื่อนงานโดยเครือข่ายความร่วมมือหลายภาคส่วน
6. การสื่อสารสาธารณะ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อบริหารจัดการและสนับสนุนการสร้างและใช้ความรู้สหวิทยาการ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพ
2. เพื่อสร้างและประสานเครือข่ายความร่วมมือหลายภาคส่วนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาระบบสุขภาพที่ใช้ความรู้เป็นฐาน
3. เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการที่อยู่บนฐานของความรู้ เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบสุขภาพ
แผนงานหลักในปีแรก
1. ระบบสุขภาพในสถานการณ์ไฟใต้
2. เครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ
3. การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค
4. ภัยพิบัติธรรมชาติ
5. การแพทย์ฉุกเฉิน
6. การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน
7. การจัดการข้อมูลข่าวสารความรู้และงานวิจัย